28 มิถุนายน 2560 ชาวบ้านร้องตรวจสอบหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรม ริม ถ.มาบเตย-วังตาหม่อน จ.ระยอง

 

ระยอง- ชาวบ้านร้องหน่วยงานเกี่ยวข้องลงตรวจสอบหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรม ริม ถ.มาบเตย-วังตาหม่อน จ.ระยอง หวั่นน้ำชะล้างหลุมฝังกลบขยะกากอุตสาหกรรมไหลลงอ่างเก็บน้ำดอกกราย

วันนี้ (26 มิ.ย.) นายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย อุตสาหกรรม จ.ระยอง ได้สั่งการให้ นายปิตินันต์ อักษร วิศวกรชำนาญการ และนายบุณยพัด รุ่งเรืองศรี วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วน ต.มาบยางพร ลงพื้นที่ตรวจสอบหลุมฝังกลบกากอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมถนนมาบเตย-วังตาหม่อน 13 ม.1 ต.มาบยางพร หลังได้ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า กำลังหวั่นวิตกว่าน้ำชะล้างจากบ่อฝังกลบกากอุตสาหกรรมทิ้งร้างแห่งนี้ จะซึมลงใต้ดิน และไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำดอกกราย

จากการลงพื้นที่ไม่ทราบว่าหลุมฝังกลบขยะกากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นของใคร เนื่องจากมีการเปลี่ยนเจ้าของมาแล้วถึง 3 ราย และจากการตรวจสอบโดยรอบพบเป็นพื้นที่ฝังกลบขยะกากอุตสาหกรรมโรงงาน โดยมีการฝังกลบเป็นเนินดินสูง ส่งกลิ่นเหม็นคล้ายก๊าซไข่เน่ารุนแรง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังพบเศษขยะถูกน้ำฝนชะล้างโผล่ขึ้นมาเหนือดิน แต่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างน้ำชะกากอุตสาหกรรม ไปตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่พบบ่อเก็บน้ำชะล้างกากอุตสาหกรรม และยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ขนกากอุตสาหกรรมมาฝังกลบไว้ แต่จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ อบต.มาบยางพร ทราบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่เสียภาษี จึงไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ

นายปิตินันต์ อักษร วิศวกรชำนาญการ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง จึงได้เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ต.อภิชากร แต่งเกลี้ยง สารวัตรเวร สอบสวน สภ.ปลวกแดง โดยตั้งข้อสงสัยว่า กากอุตสาหกรรมดังกล่าวน่าจะมาจากโรงงานฝังกลบแห่งหนึ่งที่หายไปเกือบ 2 แสนตัน และเคยแจ้งหายไว้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2559 โดยเชื่อว่าอาจถูกนำมาฝังกลบไว้บริเวณที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

“เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2559 อุตสาหกรรม จ.ระยอง ได้เข้าตรวจสอบโรงงานประกอบกิจการคัดแยกขยะและฝังกลบแห่งหนึ่งพื้นที่กว่า 400 ไร่ พบว่า มีกากอุตสาหกรรมหายไปเกือบ 2 แสนตัน และปัจจุบันเลิกประกอบกิจการแล้ว โดยไม่ทราบว่าขยะกากอุตสาหกรรมดังกล่าวถูกขนย้ายไปไว้ที่ใด โดยจะได้ประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์โดยละเอียด เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการฟื้นฟู หรือป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป” นายปิตินันต์ กล่าว

ที่มา:   http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000065155

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2