26 ส.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีมติเห็นชอบโรดแมปจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตราย หลังพบปัญหาขยะตกค้างทับถมกองเป็นภูเขาหลายพื้นที่ถึงขั้นวิกฤติ ที่สำคัญคือระบบบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพ กำจัดถูกต้องแค่ 30%

          ยกตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษมาให้ดู

  • ปี 2551 ปริมาณขยะ 23.93 ล้านตัน อัตราเกิดขยะ 1.03 กิโลกรัม / คน / วัน
  • ปี 2558 ปริมาณขยะ 26.85 ล้านตัน อัตราเกิดขยะ 1.13 กิโลกรัม / คน / วัน

          เกือบ 10 ปี มีกองขยะเพิ่มเกือบ 3 ล้านตัน!

          ผ่านไป 2 ปีกับโรดแมปจัดการขยะ เรามีโอเปอร์เรชั่น ชื่อ ประเทศไทย ไร้ขยะตามแนว ประชารัฐระยะสั้น 1 ปี เริ่มจากปีก่อน (2559) ถึงปีนี้ มีเป้าหมาย ลดขยะที่ต้นทางเป็นการปูพื้นเพื่อให้เดินไปถึงจุดหมาย ไร้ขยะ” (ฮา) ตามแผนที่กำหนดไว้ในปี 2564

          แต่ตัวเลขสถานการณ์ขยะปี 2559 กลับไม่สวยหรูเหมือนกับโรดแมปที่วางเอาไว้


       

  ปี 2559 ปริมาณขยะ 27.04 ล้านตัน อัตราเกิดขยะ 1.14 กิโลกรัม / คน / วัน

          ขยะปี 2559 มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปริมาณขยะปี 2558 ประมาณ 0.7%  

          จังหวัดที่มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ ขอนแก่น

          ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,777 แห่ง แต่มีแค่ 4,545 แห่งที่เก็บขยะไปกำจัดและเก็บได้แค่ครึ่งหนึ่งของขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ

          ส่วนการกำจัดที่สถานที่กำจัดอย่างถูกต้องทำได้เพียง 9.59 ล้านตัน หรือคิดเป็น 36%

          ที่เหลือ 43% หรือประมาณ 11.69 ล้านตันถูกนำไปเผากลางแจ้งบ้าง เทกองทิ้งบ่อดินเก่า หรือพื้นที่รกร้างบ้าง ส่วนอีก 5.76 ล้านตัน หรือ 21% ของขยะทั้งหมด ถูกคัดแยกไปใช้ประโยชน์

         ขณะที่ ของเสียอันตราย ได้แก่ ของเสียอันตรายชุมชน กากอุตสาหกรรม และมูลฝอยติดเชื้อ ในปี 2559 เกิดขึ้น 3,512,069 ตัน ส่วนใหญ่เป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย มีปริมาณ 2,850,000 ตัน แต่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 35%

-

         รองลงมาคือของเสียอันตรายจากชุมชนและครัวเรือนมี 606,319 ตัน ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นเป็น แบตเตอรี่ กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย ส่วนมูลฝอยติดเชื้อ มีปริมาณ 55,750 ตัน

         ถ้าเปรียบเทีบกับตัวเลขกับปี 2557 และ2558 แล้วพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยปี 2557 มีของเสียอันตรายเกิดขึ้น 2.693 ล้านตัน ปี 2558 มี 3.445 ล้านตัน และในปี 2559 มี 3.512 ล้านตัน

         อีกปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เรื่อง น้ำ


        
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปัญหามลพิษทางน้ำเกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ

        น้ำเสียชุมชนมากกว่า 24 ล้านครัวเรือน หรือ 9.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ได้รับการบำบัดเพียงแค่ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน   

        ระบบบำบัดน้ำเสียรวมที่มีอยู่ 101 แห่งทั่วประเทศ ใช้งานได้ 88 แห่ง! เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการลงทุนระบบและค่าบำรุงรักษาระบบ

       อีกปัจจัย คือ ชุมชน สถานประกอบการ อุตสาหกรรม เกษตรกรรมหลายแห่ง ไม่บำบัดน้ำเสียของตนเองหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

       สรุปแล้ว 2 ปี ขยะวาระแห่งชาติ เราได้ขยะมูลฝอยเพิ่ม เราได้ของเสียอันตรายเพิ่ม มิหนำซ้ำ ระบบกำจัด บำบัดน้ำเสียก็ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง การบังคับใช้กฎหมายก็ไร้ประสิทธิภาพ กระนั้นหรือ 

 

ขอขอบคุณภาพและข้อความจากเว็บไซต์ : https://www.pptvhd36.com/news

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2