บริษัท รวมเศษ จำกัด

ทำความเข้าใจกับมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2015
  • 31 March 2017 at 16:29
  • 5576
  • 0

องค์กร ISO ได้ประกาศมาตรฐาน ISO 14001:2015 ฉบับ International Standard เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558  โดยมีข้อกำหนดตามโครงสร้างตาม Annex SL ดังนี้

§  ข้อกำหนดข้อที่ 4 : บริบทขององค์กร (Context of the organization) ที่ต้องการให้องค์กรรวบรวบข้อมูลทั้งจากประเด็นภายใน ประเด็นภายนอก ความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวเนื่องในด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร มาพิจารณาเพื่อทบทวนการกำหนดขอบข่าย (Scope) ของระบบ EMS ขององค์กร และวางระบบ EMS ขององค์กรให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินงานขององค์กรอย่างแท้จริง

§  ข้อกำหนดข้อที่ 5 : การนำองค์กร (Leadership) ที่เน้นให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการนำองค์กรสำหรับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และกระตุ้นให้บุคลากรทุกคนปฎิบัติตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พร้อม ๆ ไปกับการวางโครงสร้างของการกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และอำนาจในการตัดสินใจที่เหมาะสมกับระบบ EMS ตามที่ได้วางไว้ในข้อกำหนดข้อที่ 4

§  ข้อกำหนดข้อที่ 6 : การวางแผน (Planning) ในข้อกำหนดนี้ได้วางกรอบของการวางการทำงานในระบบ EMS ที่เหมาะสมที่เชื่อมโยงจากข้อกำหนดข้อที่่ 4 ต้องเริ่มจากการระบุความเสี่ยงและโอกาส เพื่อทำการวางแผนระบบ EMS  รวมถึงการกำหนดวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมแผนงานที่่เหมาะสม  ทั้งนี้การระบุความเสี่ยงและโอกาสตามมาตรฐานระบุไว้ว่ามาจาก 3 ด้าน ประกอบด้วย

§  ด้านข้อมูลจากประเด็นภายใน ประเด็นภายนอก (Internal and External Issues) ที่ส่งผลในด้านสิ่งแวดล้อมกับการดำเนินงานขององค์กร และข้อมูลจากความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน  ซึ่งข้อมูลในด้านนี้ได้มาจากข้อกำหนดข้อที่ 4

§  ด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental aspect) ซึ่งองค์กรต้องระบุถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ (Significant environmental aspects) ขององค์กรว่ามีอะไรบ้างและเป็นความเสี่ยงหรือเป็นโอกาสอย่างไร

§  ด้านการปฎิบัติตามข้อบังคับ (Compliance obligation) นอกเหนือจากกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่องด้านสิ่งแวดล้อมที่องค์กรต้องปฎิบัติตามแล้ว องค์กรยังต้องพิจารณาถึงข้อตกลง หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวเนื่องด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับว่าเป็นความเสี่ยงหรือโอกาสที่องค์กรต้องมีการดำเนินการด้วยหรือไม่

§  ข้อกำหนดข้อที่ 7 : การสนับสนุน (Support) ในข้อกำหนดนี้กล่าวถึงประเด็นในด้านบุคลากรที่ปฎิบัติงานต้านสิ่งแวดล้อมต้องมีความรู้ ความสามารถ มีความตระหนักและมีจำนวนที่เพียงพอต่อการปฎิบัติงาน  ต้องมีการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และการจัดการเกี่ยวกับสารสนเทศที่เป็นเอกสาร (Documented Information) ที่ต้องใช้ในระบบ EMS ขององค์กรที่ต้องมีการจัดทำและควบคุมให้เหมาะสม

§  ข้อกำหนดข้อที่ 8 : การปฎิบัติการ (Operation) จะเป็นประเด็นในด้านการควบคุมการปฎิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม และการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน

§  ข้อกำหนดข้อที่ 9 : การประเมินผลการดำเนินงาน (Performance Evaluation) ประเด็นที่ต้องดำเนินการจะเกี่ยวเนื่องในด้าน

§  การติดตามตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม รวมด้านการปฎิบัติงาน เพื่อนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และประเมินผล ในข้อกำหนดนี้รวมถึงการประเมินความสอดคล้องของระบบและในด้านการปฎิบัติตามข้อบังคับด้วยเช่นกัน

§  การตรวจประเมินภายใน เพื่อประเมินประสิทธิผลของระบบ EMS

§  การทบทวนฝ่ายบริหารที่ผู้บริหารระดับสูงต้องทบทวนภาพรวมทั้งหมดของระบบ EMS ขององค์กรผ่านข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจปรับปรุงระบบ EMS ให้มีความเหมาะสมต่อไป

§  ข้อกำหนดข้อที่ 10 : การปรับปรุง (Improvement) ที่มองในด้านการจัดการกับข้อบกพร่องด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการปฎิบัติการแก้ไข (Corrective Action) และมุ่งเน้นถึงการปรับปรุงระบบ EMS ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินการต่อไปขององค์กรที่ได้ทำระบบ ISO 14001 แล้วหรือสนใจที่จะทำคือการปรับ/พัฒนาระบบให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐานฉบับใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการให้กับลูกค้าจะมีการดำเนินการในด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และส่งผลให้เกิดความยั่งยืนต่อไปด้วยค่ะ

 

 Credit from : http://smehappy.com